การดูแลริมฝีปากอักเสบแห้งลอก

การดูแลริมฝีปากอักเสบแห้งลอก

ริมฝีปากเป็นอวัยวะหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สำคัญหลายประการ ทั้งการรับประทานอาหาร การดูดน้ำ มีส่วนช่วยในการออกเสียงและการพูด การแสดงอารมณ์ รวมไปถึงการเล่นดนตรีจำพวกเครื่องเป่าอีกด้วย นอกจากนี้ริมฝีปากยังมีประสาทสัมผัสรับความรู้สึกสัมผัสที่ดีมากและส่งผลต่อความสวยงามของใบหน้า เมื่อมีการอักเสบบริเวณริมฝีปาก ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในหลายด้าน

สาเหตุ

ริมฝีปากอักเสบ (cheilitis) เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่

2. ผื่นแพ้สัมผัส เกิดจากการแพ้สารที่สัมผัสกับริมฝีปาก เช่น
– เครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก ซึ่งการแพ้เกิดได้ทั้งจากน้ำหอม สารให้ความชุ่มชื้น สี สารกันเสีย สารกันแดด menthol หรือโลหะผสมในแท่งหรือตลับลิปสติก เป็นต้น
– ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เกิดการแพ้จากสารแต่งรส แต่งกลิ่น menthol เป็นต้น
– ยาทาเล็บ และเล็บ acrylic ในรายที่มีนิสัยชอบกัดเล็บ
– วัสดุอุดฟัน ครอบฟัน
– อาหารบางประเภท เช่น มะม่วง แครอท เปลือกส้ม

2. ริมฝีปากอักเสบจากการระคายเคือง เช่น จากการเม้ม เลียริมฝีปากบ่อย ๆ เนื่องจากในน้ำลายมีเอนไซม์หลายชนิดทำให้ระคายเคืองได้

3. ริมฝีปากอักเสบจากภูมิแพ้ผิวหนัง ในผู้ป่วยที่มีผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ซึ่งมีอาการคันบริเวณข้อพับเรื้อรัง และผิวแห้ง อาจมีริมฝีปากแห้งลอกร่วมด้วยได้

อาการและอาการแสดง

เมื่อมีการอักเสบบริเวณริมฝีปาก ทำให้ริมฝีปากแห้ง ลอกเป็นขุย มีอาการคันหรือแสบร้อน บางครั้งอาจริมฝีปากแตกเป็นแผล ทำให้รบกวนการรับประทานอาหารและการพูด บางรายมีการอักเสบของมุมปากร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค

การตรวจเพื่อหาสาเหตุของภาวะนี้ทำได้โดยการทำ patch test หรือการตรวจภูมิแพ้ผิวหนังด้วยการปิดแผ่นทดสอบบริเวณหลังหรือต้นแขน ด้วยสารมาตรฐานในชุดทดสอบและเครื่องสำอางของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยภาวะผื่นแพ้สัมผัส

การดูแลและรักษา
1. หลีกเลี่ยงการเลีย เม้ม หรือแกะลอกริมฝีปาก
2. หลีกเลี่ยงสารสัมผัสที่แพ้ เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน เป็นต้น
3. ทาสารให้ความชุ่มชื้นบ่อย ๆ เช่น ขี้ผึ้งวาสลีน
4. การทายากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้หากใช้ยาไม่ถูกต้อง

การพยากรณ์โรค
ในกรณีที่เกิดจากผื่นแพ้สัมผัส หากได้รับการตรวจพบสาเหตุและสามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือกรณีเกิดจากการระคายและสามารถงดเว้นการเลีย เม้มปาก อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น

บทความโดย…อ. พญ. ปราณี เกษมศานติ์
ภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1178&csid=14&cid=23#.WFeHfVOLSUk